ครบเครื่องเรื่องขันหมาก ตอนที่ 3 :
พานรับขันหมาก การรับขันหมาก การปิดประตูขันหมาก
(Thai Wedding Ceremony Eps.3)
พานรับขันหมาก
พอขบวนขันหมาก ของเจ้าบ่าวมาถึงเขตบ้านแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะจัดพานใส่หมากพลู สำหรับรับขันหมาก เตรียมไว้ให้เฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว ซึ่งอาจให้เด็กผู้หญิงแต่งตัวสวยงาม หรือญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว ถือพานออกไปรับ ก็ได้ เป็นการแสดงความยินดีและให้เกียรติเฒ่าแก่ฝ่ายชาย
เมื่อมีผู้นำพานรับขันหมาก มามอบให้ เฒ่าแก่ฝ่ายชาย จะหยิบหมากพลูที่จีบไว้ เป็นคำ ๆ เคี้ยวกินหรือหยิบไว้ พอเป็นพิธี แล้วส่งพานคืนให้พร้อมกับของชำร่วยหรือซองใส่เงิน ผู้ที่ถือขันหมาก ต้องไปยืนอยู่นอกเขตบ้าน เพราะต่อไปจะมีการปิดกั้นประตูเงินประตูทอง เมื่อรับพานคืนมาพร้อมของรางวัลแล้ว ผู้ทำหน้าที่รับขันหมาก ก็จะนำขบวนขันหมาก เข้าสู่เขตบ้าน
การรับขันหมาก
ในการรับขันหมาก นอกจะให้เด็กยกพาน รับขันหมากแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวก็จะออกมา ให้การต้อนรับด้วย เพื่อเจรจาต้อนรับเฒ่าแก่ ของฝ่ายเจ้าบ่าว พูดคุยกันในเรื่องอันเป็นมงคลเกี่ยวกับ ฤกษ์งามยามดีในวันนี้ บางทีหน้าที่โต้ตอบ และจัดขบวนขันหมาก อาจใช้ผู้ที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะคอยควบคุม เรียกว่า นายขันหมาก ส่วนเฒ่าแก่เป็นเพียงผู้ร่วมมาในขบวนขันหมาก และเป็นผู้ทำพิธีในฐานะผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย นายขันหมาก บางทีเรียกว่า คนเอิ้น...หรือผู้ขานขันหมาก มีหน้าที่บอกกับทางผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงว่า บัดนี้ขบวนขันหมาก ได้มาถึงบ้านของฝ่ายหญิงแล้ว
ในวันงาน ทั้งตัวเฒ่าแก่ นายขันหมาก เจ้าบ่าว เจ้าสาว และพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งญาติผู้ใหญ่ จะแต่งตัวกัน งดงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ใครมีเครื่องเพชรเครื่องทอง ก็จะขนมาแต่งกัน เต็มที่ เจ้าบ่าวนิยมใส่ชุดสูทหรือชุดพระราชทาน ส่วนเจ้าสาวนั้น นิยมแต่งชุดไทย และใส่ชุดราตรี หรือ ที่เรียกว่า ชุดเจ้าสาวในเวลากินเลี้ยงตอนกลางคืน เกี่ยวกับ การแต่งตัวนี้ ความจริงไม่มีข้อจำกัด หรือบังคับอันใด ดูตามความเหมาะสม
การปิดประตูขันหมาก
เมื่อขบวนขันหมากมาถึงประตูบ้านเจ้าสาว ซึ่งด่านแรกนี้จะเป็นประตูรั้ว หรือบางทีออกไปกั้นกัน ตั้งแต่ ปากซอยเลย ก็มีกว่าจะเข้าไปในบ้านเจ้าสาวได้ อาจต้องผ่านถึง 5 ประตู 7 ประตู แต่ส่วนใหญ่นิยมกันแค่ 3 ประตู เท่านั้น คือ ประตูชัย ประตูเงิน ประตูทอง หรือ ประตูนาก ประตูเงิน ประตูทอง
ด่านแรกที่รั้วบ้านนี้ คนของฝ่ายเจ้าสาว 2 คนจะถือชายผ้ากั้นไว้คนละข้าง เรียกว่าปิดประตูขันหมาก เฒ่าแก่หรือนายขันหมากซึ่งมากับเจ้าบ่าวก็จะถามว่า
“ประตูนี้มีชื่อว่าอันใด” หรือจะพูดอย่างธรรมดาว่า “ประตูอะไรจ๊ะ” ก็ได้ ผู้ปิดประตูต้องตอบว่า “ประตูชัย”
เฒ่าแก่ก็จะให้ซองเงิน หรือของชำร่วย แก่ผู้กั้นเพื่อขอผ่าน ของชำร่วยหรือซองเงินนี้ จะมีค่างวดน้อยกว่า ที่จะต้องให้ผ่านประตูเงิน และประตูทอง เรียกว่า "ของแถมพกอย่างตรี"
บางทีกว่าจะผ่านด่านแรกได้ อาจมีการกล่าวหยอกเย้าต่อรองกันเป็นที่สนุกสนาน เมื่อผู้กั้น ยอมเปิดให้ผ่าน เข้ามาในเขตบ้านแล้ว ก็มาถึงประตูที่ 2 คือ ประตูเงิน ซึ่งจะอยู่บริเวณบันได เพราะบ้านทรงไทยสมัยโบราณ นิยมสร้าง แบบยกพื้นสูง
การกั้นประตูเงินนี้ จะใช้ผ้าแพรหรือผ้าชนิดดีกว่าที่ใช้กั้นประตูชัย ผู้ที่ถือผ้ากั้นทั้งสองคนส่วนใหญ่เป็นญาติสนิท ของฝ่ายเจ้าสาว เฒ่าแก่จะถามว่า “ประตูชั้นสองนี้มีชื่อว่าประการใด” ผู้กั้นตอบว่า “ประตูเงิน” เฒ่าแก่จึงมอบซอง หรือ "ของแถมพกอย่างโท" ให้เพื่อขอผ่านทาง
การให้ของแถมพกหรือซองเงินนั้น บางทีเจ้าบ่าวก็ทำหน้าที่เอง มีเพื่อนเจ้าบ่าว ช่วยเจรจาต่อรอง กับคนของ ฝ่ายเจ้าสาว บางทีแกล้งให้ซองแดงเปล่า ๆ ผู้กั้นไหวไม่ทันอาจเสียทีเป็นการหยอกเย้ากัน ให้สนุกสนาน ครื้นเครงมากกว่า ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่รู้เชิงอยู่กำกับ จะนำซองมาเปิดหรือส่องดูก่อนว่าในซองมีเงินจริงหรือเปล่า เมื่อเป็นที่พอใจแล้ว จึงเปิดทางให้ผ่าน จึงเป็นเรื่องของการหยอกล้อกันมากกว่า ที่จะสนใจในเรื่องของเงินทอง
(ติดตามต่อใน ครบเครื่องเรื่องขันหมาก ตอนต่อไปค่ะ)
Credit:
www.thaitopwedding.com : จากหนังสือ : ประเพณี พิธีมงคล วันสำคํญของไทย ของ คุณกิติ ธนิกุล