ในแต่ละครอบครัวอาจจะมีวัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีที่แตกต่างกันไป โดยลำดับพิธีการต่างๆของ พิธีหมั้น-พิธีแต่งงานแบบไทยในช่วงเช้า ที่นำเสนอนี้ เป็นเพียงลำดับขั้นตอนที่บอกกล่าวให้ทราบเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปใช้ คุณสามารถจะ ลด เพิ่ม หรือปรับเปลี่ยนพิธีการ ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวได้เลยค่ะ
# พิธีหมั้น-พิธีแต่งงานแบบไทย ขั้นตอนที่ 1 : ทำพิธีทางศาสนา(พุทธ)
เริ่มด้วยจุดเทียนไหว้พระพุทธเพื่อทำพิธีสงฆ์ โดยคู่บ่าวสาวจะเป็นผู้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งมีลำดับขั้นตอนดังนี้
- พิธีกรนำไหว้พระและสมาทานเบญจศีล
- พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
- คู่บ่าวสาวตักบาตร (เมื่อพระสงฆ์สวดบทพาหุง)
- พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ พิธีกรนำกล่าวคำถวายสังฆทาน
- คู่บ่าวสาวประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์ฉันท์อาหาร ระหว่างนี้ก็จะทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง บริเวณหน้าบ้าน (ถ้าไม่ได้ทำที่บ้าน ก็สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย)
- พระสงฆ์ฉันท์เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา คู่บ่าวสาวกรวดน้ำ
- พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เจิมหน้าผากเจ้าบ่าวเจ้าสาว
เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธีทางศาสนา(พุทธ) จากนั้นพระจะทยอยกลับ
# พิธีหมั้น-พิธีแต่งงานแบบไทย ขั้นตอนที่ 2 : ตั้งขบวนแห่ขันหมาก แห่ขันหมาก รับขันหมาก
- ให้เจ้าสาวขึ้นไปเตรียมตัวรอขันหมากบนบ้าน ส่วนเจ้าบ่าวก็จะไปบริเวณที่จัดขบวนขันหมากไว้ เมื่อได้ฤกษ์เคลื่อนขบวน พ่อแม่เจ้าบ่าว และเจ้าบ่าวนำขบวนขันหมากเดินมายังบ้านเจ้าสาว
เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว ให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงไปต้อนรับพร้อมกับให้เด็กหญิงถือพานหมากไปด้วย (หมากจัดเป็นจำนวนคู่) เมื่อขบวนขันหมากมาถึงหน้าบ้าน ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะถามไปว่า “วันนี้ฤกษ์งามยามดี พวกท่านมาดีหรือมาร้าย ใคร่ขอทราบ” ผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็ตอบไปว่า “วันนี้ฤกษ์งามยามดี ท่านเศรษฐีผู้ใหญ่ ท่านจะนำแก้วเข้ามาเกยจะนำเขยเข้ามาฝาก จะนำขันหมากเข้ามาให้ หากไม่ขัดข้อง ขอให้รับไว้ด้วย”
- นายประตู เมื่อขบวนขันหมากจะเข้าไปในบ้าน จะต้องผ่านประตูทั้ง 3 คือ ประตู เงิน ประตูนาก และประตูทอง ให้เจ้าบ่าวเตรียมเงินใส่ซองไว้ เพื่อขอผ่านประตู คนเฝ้าประตูเงินจะใช้เข็มขัดเงินกั้นไว้ ไม่ยอมให้เจ้าบ่าวเข้า จะพูดว่า “บ้านนี้เป็นบ้านใหญ่บ้านโต มีผู้คนมากมาย การจะผ่านเข้าผ่านออก จะต้องแจ้งให้นายประตูทราบก่อน จึงจะผ่านเข้าไปได้” เมื่อให้รางวัลนายประตูแล้ว ก็ผ่านเข้าไปได้ ผู้เฝ้าประตูอื่น ๆ ก็พูดและปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ ( เรื่องคนเฝ้าประตูจะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น)
- เมื่อขบวนขันหมากเข้าไปในบ้านเรียบร้อยแล้ว ให้นำขันหมากไปวางไว้ ณ ที่ ซึ่งเจ้าของบ้านจัดเตรียมไว้ ก่อนจะเริ่มพิธีเปิดขันหมาก ถ้าที่บ้านมีโต๊ะหมู่บูชา ให้ผู้เป็นประธานฝ่ายหญิงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยเสียก่อน ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายพร้อมทั้งคู่บ่าวสาวนั่งล้อมวงขันหมาก ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็จะพูดว่า “เพื่อเป็นสิริมงคล ขอให้เปิดขันหมากให้ดูทั่วกันด้วย” ผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็ทำการเปิดขันหมากทั้งสามขัน โดยปูผ้าห่อขันหมากที่พื้น หยิบใบเงินใบทอง ใบนาก เรียงบนผ้าก่อน แล้ววางสินสอด ถั่ว, งา, ข้าวเปลือก, ข้าวตอกไว้ข้างบน ส่วนหมากพลูก็ทำเช่นเดียวกัน คลี่ผ้าออกปู นำพลูเรียงพร้อมวางหมากลง ขณะนับเงินสินสอน ก็ให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงพูดแต่คำที่เป็นสิริมงคล
- เมื่อพิธีเกี่ยวกับขันหมากเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ห่อมอบส่งให้ฝ่ายหญิงไป ส่วนหมากพลูก็ห่อมอบส่งให้ฝ่ายหญิงเช่นกัน หมากพลูให้เก็บไว้ 3 ถึง 7 วัน แล้วนำไปพลีที่ใต้ต้นไม้ใหญ่
- เจ้าบ่าวสวมแหวนหมั้น และทองหมั้นต่างๆ ให้แก่เจ้าสาว เจ้าสาวสวมแหวนหมั้นที่เตรียมไว้ให้แก่เจ้าบ่าว เป็นอันเสร็จพิธีหมั้น
# พิธีหมั้น-พิธีแต่งงานแบบไทย ขั้นตอนที่ 3 : พิธีการไหว้ผู้ใหญ่
หลังจากทำพิธีหมั้นเสร็จเรียบร้อย ต่อมาจึงทำพิธีไหว้ขอขมาพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย เริ่มจากพ่อแม่เจ้าสาว
- บ่าวสาวก็จะนำพานธูปเทียนแพมาไหว้ และกล่าวคำขอขมาตามที่ผู้ทำพิธีบอก (พูดประมาณว่า สิ่งใดที่ทำผิดต่อท่านไว้ให้ท่านอภัยให้) พ่อแม่รับพานไว้ (ให้จับไว้เฉยๆ)
- บ่าวสาววางพาน และก้มลงกราบกับพื้น (ถ้าเป็นพ่อแม่ให้ไหว้แบมือ 3 ครั้ง แต่ถ้าเป็นญาตินอกจากพ่อแม่ให้ไหว้ 1 ครั้ง ไม่ต้องแบมือ)
- ผู้ที่รับไหว้ก็ผูกข้อมือบ่าวสาว เพื่ออวยพรให้คู่บ่าวสาว และให้ของขวัญแก่คู่บ่าวสาว คู่บ่าวสาวก็มอบของขวัญที่เตรียมไว้เป็นที่ระลึกให้ผู้ที่รับไหว้ หลังจากนั้นก็เป็นพ่อแม่เจ้าบ่าว และตามด้วยญาติๆ ที่มาในงาน
# พิธีหมั้น-พิธีแต่งงานแบบไทย ขั้นตอนที่ 4 : พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือ พิธีรดน้ำสังข์
เมื่อไหว้ผู้ใหญ่เสร็จเรียบร้อย ก็ทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือพิธีรดน้ำสังข์ต่อได้เลย การทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ เริ่มจาก
- เจ้าบ่าวเจ้าสาว (อาจจะเป็นประธานก็ได้) จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
- เสร็จการบูชาพระแล้ว คู่บ่าวสาวไปนั่งที่ตั่ง ประธานในพิธี คล้องพวงมาลัยให้คู่บ่าวสาว และสวมมงคลแฝด (ที่พระทำไว้ให้แล้ว) และหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ และผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่นๆ เข้ารดน้ำตามลำดับอาวุโส (อวุโสมากรดก่อน)
วิธีจัดตั้งที่หลั่งน้ำ ได้แก่ โต๊ะหมู่บูชาให้จัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รวมทั้งตั่งด้วย (ถ้าไม่ใช่ทิศตะวันออก ก็ควรเป็นทิศเหนือ หรือใต้ ไม่ควรเป็นทิศตะวันตก) เวลาทำพิธีให้เจ้าสาวอยู่ซ้ายมือของเจ้าบ่าวตลอด ทั้งตอนพิธีสงฆ์ ไหว้พระ และหลั่งน้ำ ส่วนผู้ที่จัดน้ำมนต์ (ตักน้ำมนต์ใส่ในสังข์) ให้อยู่ขวามือของเจ้าบ่าว ผู้ที่มาหลั่งน้ำก็จะหลั่งน้ำให้เจ้าบ่าวก่อน ตามด้วยเจ้าสาว
หลังจากพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หรือพิธีรดน้ำสังข์เสร็จแล้ว ให้ผู้ทำพิธี (อาจจะเป็นประธานหรือเจ้าภาพ) ทำพิธีถอดมงคลแฝดมอบให้คู่บ่าวสาว เป็นอันเสร็จพิธี
# พิธีหมั้น-พิธีแต่งงานแบบไทย ขั้นตอนที่ 5 : พิธีการปูที่นอน และ พิธีส่งตัวคู่บ่าวสาว
เมื่อถึงฤกษ์ส่งตัว หรือไม่มีฤกษ์แต่ต้องการส่งตัวเลย ก็ให้ส่งตัวบ่าวสาวที่ห้องหอ ให้ผู้ที่ทำพิธี(อาจเป็นประธาน หรือผู้ที่เตรียมไว้ซึ่งควรเป็นคู่ที่ดี มีชีวิตสมรสราบรื่น มีลูกเยอะๆ ) ปูที่นอน เสร็จแล้วก็ขึ้นไปนอนเป็นตัวอย่าง แล้วจึงให้บ่าวสาวขึ้นไปนอนบนเตียง
พิธีการส่งตัวมักทำกันตอนกลางคืน หลังการกินเลี้ยงฉลองพิธีมงคลสมรสในตอนกลางวัน หรือตอนกลางคืนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อความสะดวกและให้คู่บ่าวสาวได้พบปะ พูดคุยและขอบคุณแขกที่มาในงานก่อน เพราะหลังจากเข้าห้องหอแล้ว มักห้ามให้คู่บ่าวสาวออกจากห้องหอทั้งคืนเพื่อเป็นเคล็ด