พิธีแต่งงาน
(Original Thai Wedding Eps.2)
หลังจากที่เราได้รู้เกี่ยวกับขั้นตอนการสู่ขอ และพิธีการหมั้นกันจาก ตอนที่ 1 กันแล้ว ตอนนี้เราก็จะเข้าสู่พิธีการแต่งงานกันนะคะ
ก่อนอื่นตามความเชื่อของคนไทย ต้องมีการดูฤกษ์ยามมงคลกันก่อน โดยเฉพาะฤกษ์การทำพิธีมงคลต่าง ๆ เช่น วันที่ส่งเฒ่าแก่ไป เจรจาสู่ขอ วันหมั้น วันแต่งงาน รวมไปถึงฤกษ์ในการปลูกเรือนหอ ส่งตัวเจ้าสาว และฤกษ์เรียงหมอน
เกี่ยวกับเรื่องฤกษ์ยาม เริ่มจากวัน คือต้องเป็นวันดี เช่น วันอธิบดี วันธงชัย ส่วนเดือนที่นิยมแต่งงานกัน ได้แก่ เดือน 6 เดือน 9 เดือน 10 เดือน 2 และเดือน 4 เพราะนิยมถือเป็นเดือนคู่ ซึ่งคำว่าคู่ หรือสิ่งที่เป็นคู่นี้มีความหมาย และสำคัญมากในพิธีการแต่งงาน เพราะหมายถึงการเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่
บางทีก็แต่งงานเดือน 9 ถือเคล็ดถึงความก้าวหน้า เนื่องจากคำว่า "เก้า" กับ "ก้าว" ออกเสียงใกล้เคียงกัน บางตำราบอกว่าเป็นการเลื่อนการแต่งงานในเดือน 8 ซึ่งเป็นเดือนคู่ แต่เป็นช่วงเข้าพรรษา จึงเลื่อนมาเป็นเดือน 9 แทน คือเลี่ยงเทศกาลทางศาสนาและถือเคล็ดความก้าวหน้าไปพร้อมกัน บางทีอาจแต่งในเดือน 8 แต่แต่งงานก่อนวันเข้าพรรษา
เดือนที่นิยมแต่งงานมากที่สุดคือ เดือน 6 เพราะเริ่มเข้าสู่หน้าฝน อาจเพราะบรรยากาศโรแมนติกกว่าแต่งงานหน้าอื่น และเป็นต้นฤดูทำการเพาะปลูกของคนไทย ซึ่งเป็นการเริ่มชีวิตใหม่สร้างฐานะครอบครัวร่วมกัน
เดือนที่ไม่นิยมแต่งงานคือ เดือน 12 แม้ว่าเป็นเดือนคู่ก็ตาม อาจเพราะเป็นช่วงที่น้ำป่าไหลท่วมบ้านเรือน หรือข้าวปลาอาหารไม่สมบูรณ์ การคมนาคมไม่สะดวกก็เป็นได้ แต่ปัจจุบันความเชื่อเรื่องเดือนนั้นไม่เคร่งครัดเท่าไร
เรามาเิริ่มขั้นตอนในการแต่งงานกันเลยนะคะ
1. พิธีรับไหว้
จัดขึ้นเพื่อแสดงความคารวะ นบนอบ ต่อบิดามารดา และบรรดาผู้ใหญ่ นอกจากนี้เงินที่ได้จากพิธีรับไหว้ ถือว่าเป็นเงินทุนให้แก่คู่บ่าวสาวอีกด้วย เช่นเดียวกับพิธียกน้ำชาในการแต่งงานแบบคนจีน
สำหรับสถานที่ในการจัดงาน นิยมเน้นความสะดวกของคู่บ่าวสาว คือจัดเก้าอี้ หรือเสื่อไว้ ผู้ใดจะทำพิธีไหว้ก็มานั่งในสถานที่นั้นต่อหน้าคู่บ่าวสาว พอทำพิธีเสร็จแล้วจึงลุกออกไป เพื่อให้ผู้อื่นมาทำพิธีรับไหว้ต่อ ซึ่งการไหว้นั้นจะเรียงตามลำดับอาวุโส ส่วนใหญ่ พ่อแม่ฝ่ายหญิง ซึ่งเป็นเจ้าภาพจะให้เกียรติโดยให้ทางฝ่ายชายก่อน หรือจะให้ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก่อนก็ได้ ไม่เคร่งครัดในเรื่องนี้เท่าไร
พิธีการรับไหว้ เมื่อพ่อแม่ฝ่ายหญิงหรือชายไปนั่งคู่กันในที่จัดไว้ เจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งนั่งคู่กันอยู่ตรงข้าม จะกราบลงพร้อมกันที่หมอนสามครั้งรวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ถ้าหากเป็นญาติคนอื่นๆ กราบหนึ่งครั้ง โดยไม่ต้องแบมือ แล้วส่งพานดอกไม้ธูปเทียนให้ พ่อแม่รับและให้ศีลให้พรอวยพรให้ทั้งคู่
หลังจากนั้น หยิบเงินรับไหว้ใส่ในพาน หยิบด้ายมงคลหรือสายสิญจน์เส้นเล็กๆ ผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาวแสดงการรับไหว้
2. พิธีร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาว
การร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาว นิยมทำกันหลังจากพิธีรับไหว้ คือ เจ้าภาพจะเป็นผู้นิมนต์พระมาสวดเจริญพุทธมนต์และรับอาหารบิณฑบาต

เกี่ยวกับการนิมนต์พระมาสวด แต่ก่อนนิยมมาเป็นคู่ เช่น 4 หรือ 8 องค์ แต่ปัจจุบันนิยม 9 องค์ เพราะคนไทยเชื่อถือเกี่ยวกับตัวเลข 9 ว่าเป็นเลขมงคล หมายถึงความเจริญก้าวหน้า โดยนับพระประธานเป็นองค์ที่ 10 ครบจำนวนคู่พอดี
ในการทำพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ทั่วไปนั้น เจ้าภาพจะทำหน้าที่จุดธูปเทียนบูชาพระ แต่ในงานมงคลสมรสมักนิยมให้คู่บ่าวสาว เพราะถือว่าเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในงาน รวมถึงการถวายขันและเทียนเพื่อให้พระทำน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งจะนำมาเป็นน้ำสังข์สำหรับหลั่งในพิธีรดน้ำต่อไป
การตักบาตรร่วมกันของคู่บ่าวสาว อาจกระทำอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น หลังจากวันแต่งงาน
3. พิธีรดน้ำสังข์
หลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระสวดพุทธมนต์ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ก็ได้ฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ พระผู้เป็นประธาน จะทำการเจิมให้แก่บ่าวสาว ฝ่ายชายนั้นพระท่านสามารถที่จะทำการเจิม 3 จุดได้โดยตรง แต่หากเป็นฝ่ายหญิงแล้ว พระท่านจะจับมือฝ่ายชายเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวของตน
หลังจากนั้น จึงทำมงคลแฝดสวมให้คู่บ่าวสาวคนละข้าง มีสายโยงห่างกันประมาณ 2 ศอกเศษเพื่อความสะดวก และส่วนปลายของมงคล จะโยงมาพันที่บาตรน้ำมนต์ และหางสายสิญจน์ พระสงฆ์จะส่งกันไปโดยจับเส้นไว้ในมือ จนถึงพระองค์สุดท้ายก็จะวางสายสิญจน์ไว้ที่พาน หากเป็นการรดน้ำตอนเย็น ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน จะเป็นมงคลแฝดแบบไม่มีสายโยง

ในการรดน้ำสังข์เริ่มจากพ่อแม่ของคู่บ่าวสาว หรือญาติผู้ใหญ่ ตามลำดับ นิยมรดใส่ในมือให้เจ้าสาวก่อน แล้วจึงรดให้เจ้าบ่าว และกล่าวอวยพรให้คู่บ่าวสาว ขณะรดน้ำสังข์ พระสงฆ์จะสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว แต่ในปัจจุบัน นิยมทำพิธีรดน้ำกันตอนเย็น ก่อนเวลากินเลี้ยงฉลองสมรส ซึ่งมักจะจัดที่โรงแรม หรือหอประชุม
สมัยโบราณ ในพิธีการแต่งงานจะไม่มีการรดน้ำสังข์ แต่จะมีพิธีซัดน้ำ พระสงฆ์จะเป็นผู้ทำพิธี โดยตักน้ำมนต์ในบาตรซัดสาดใส่คู่บ่าวสาว บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งมีอยู่หลายคู่ แกล้งนั่งห้อมล้อมให้คู่บ่าวสาวนั่งเบียดกันชิดกัน การซัดน้ำนี้บางทีซัดจนเปียกปอนต้องเปลี่ยนชุดหลังเสร็จพิธี
4. การกินเลี้ยงฉลองพิธีแต่งงาน
เมื่อเสร็จพิธีหลั่งน้ำสังข์ หรือพิธีซัดน้ำแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารแขกผู้มาร่วมงาน อาจมีดนตรีประกอบเพื่อความสนุกสนาน ครื้นเครง โฆษกจะกล่าวเชิญให้พ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาว รวมทั้งคู่บ่าวสาวกล่าวขอบคุณแขก ถ้ามีการกินเลี้ยงในตอนเย็น เจ้าสาวมักเปลี่ยนจากชุดไทยเป็นชุดราตรียาว หรือที่เรียกกันว่า "ชุดเจ้าสาว"
5. พิธีส่งตัวเจ้าสาว
มักทำกันตอนกลางคืน ถ้าหากมีการเลี้ยงฉลองสมรสตอนกลางคืน จะต้องมีการเลิกก่อนถึงฤกษ์ส่งตัวเล็กน้อย เพื่อคู่บ่าวสาวจะได้มีเวลาเตรียมตัว พ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวจะจะเชิญผู้มีเกียรติ ซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาอาวุโส ให้ทำพิธีปูที่นอนในห้อง หรือเรือนหอ การทำพิธีปูที่นอน ในปัจจุบันทำพอเป็นพิธี เพราะว่าได้มีการจัดเตรียมไว้ก่อนวันแต่งไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นพอได้ฤกษ์ผู้ทำพิธีก็จัดแจง ปูที่นอน จัดหมอนผ้าห่มกางมุ้ง พอถึงฤกษ์เรียงหมอน ผู้ทำพิธีฝ่ายชายก็ล้มตัวนอนทางด้านขวา ผ่ายหญิงนอนทางซ้าย เป็นการนอน เอาเคล็ด
สิ่งของอันเป็นมงคลที่ใช้ในพิธีปูที่นอน มีอยู่หลายตำรา เช่น ใช้หินบดยา ฟักเขียว แมวตัวผู้สีขาว ซึ่งทาแป้งและของหอมไว้ทั้งตัว รวมทั้งถั่วทอง งาเมล็ด ข้าวเปลือก อย่างละหยิบมือห่อผ้าไว้ในพาน ผู้ทำพิธีปูที่นอนจะหยิบของเหล่านี้วางบนที่นอนพร้อมกับแมว และกล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคล แล้วนอนลงพอเป็นพิธี แล้วจึงลุกขึ้น สิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีน่าจะมาจากคติคำอวยพรที่ว่า
"ขอให้เย็นเหมือนฝัก หนักเหมือนแฟง ให้อยู่เรือนเหมือนก้อนเส้า ให้เฝ้าเรือนเหมือนแมวคราว"
ก้อนเส้า คือหินเตาไฟสำหรับหุงต้มในสมัยโบราณ แต่เห็นว่ามีคราบเขม่าสีดำสกปรกง่าย จึงเปลี่ยนเป็นหินบดยาแทน
เมื่อผู้ทำหน้าที่ปูที่นอนลุกขึ้นแล้ว โดยทำเป็นเพิ่งตื่นนอน ฝ่ายหญิงจะพูดในสิ่งอันเป็นมงคล เช่น ฝันว่าอย่างโน้น อย่างนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีงาม ฝ่ายชายก็จะทำนายทายทักปลอบขวัญ ต่อจากนั้น จึงพากันลุกออกไป
พ่อแม่ของฝ่ายหญิงนำเจ้าสาวมาส่งให้เจ้าบ่าว จากนั้น พ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ก็อบรมคู่บ่าวสาว ให้รู้จักหน้าที่ของสามีภรรยาที่ดีซึ่งต่อไปจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน แล้วให้คู่บ่าวสาวนอนลงที่นอน โดยเจ้าบ่าวนอนด้านขวา และเจ้าสาวนอนด้านซ้าย บางทีก่อนนอนก็ให้เจ้าสาวกราบบอกสามีก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะถือว่าสามีเป็นผู้ให้ความดูแลคุ้มครอง
ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการต่าง ๆ นะคะ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการประยุกต์พิธีการแต่งงาน ให้มีความกระชับและเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่มากขึ้น
credit: http://animate4you.com/