หลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตร ฟังพระสวดพุทธมนต์ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ก็ได้ฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ พระผู้เป็นประธาน จะทำการเจิมให้แก่บ่าวสาว ฝ่ายชายนั้นพระท่านสามารถที่จะทำการเจิม 3 จุดได้โดยตรง แต่หากเป็นฝ่ายหญิงแล้ว พระท่านไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวได้ จึงต้องจับมือฝ่ายชายเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวของตน
หลังจากนั้น จึงทำมงคลแฝดสวมให้คู่บ่าวสาวคนละข้าง มีสายโยงห่างกันประมาณ 2 ศอกเศษ เพื่อความสะดวก และส่วนปลายของมงคล จะโยงมาพันที่บาตรน้ำมนต์ และหางสายสิญจน์ พระสงฆ์จะส่งกันไปโดยจับเส้นไว้ในมือ จนถึงพระองค์สุดท้ายก็จะวางสายสิญจน์ไว้ที่พาน หากเป็นการรดน้ำตอนเย็น ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน จะเป็นมงคลแฝดแบบไม่มีสายโยง
คู่บ่าวสาวต้องนั่งในที่จัดไว้ ซึ่งจะมีหมอนสำหรับรองรับมือและพานรองน้ำสังข์ ส่วนเพื่อนเจ้าบ่าวจะยืนให้กำลังใจอยู่ข้างหลัง และญาติผู้ใหญ่ก็จะทยอยกันมารดน้ำสังข์ตามลำดับ เกี่ยวกับการเลือกเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว มีคติความเชื่อว่า ควรเลือกที่อายุน้อยหรือใกล้เคียงกับคู่บ่าวสาว และในช่วงที่ใกล้หรือมีโครงการจะแต่งงานเร็วๆ นี้ เพราะหากว่าเป็นคนโสดอาจจะต้องกลายเป็นเพียงเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันไปตลอด ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวตัวจริงกันเสียที แต่ความจริงแล้วอาจเป็นเพราะผู้ใหญ่ต้องการให้ผู้ที่ใกล้แต่งงานได้ดูขั้นตอนการแต่งงาน เมื่อถึงคราวตนเองจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและไม่เคอะเขิน
ขั้นตอนในการทำพิธีรดน้ำ
ความเป็นมาของหอยสังข์ที่นำมาใช้ในพิธี คุณเคยคิดสงสัยไหมว่า ทำไมต้องใช้หอยสังข์เป็นภาชนะใส่น้ำมนต์หลั่งอวยพรให้คู่บ่าวสาว ในสมัยโบราณมีความเชื่อว่า หอยสังข์เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 14 อย่าง อันเกิดจากกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและอสูร บางเชื่อว่าครั้งหนึ่งสังข์อสูรได้ลักเอาพระเวทไปซ่อนไว้ในหอยสังข์ พระนารายณ์ได้อวตารไปปราบและสังหาร แล้วทรงล้วงเอาพระเวทออกมาจากสังข์ ทำให้ปากหอยสังข์มีรอยพระหัตถ์ของพระนารายณ์ จึงถือกันว่าสังข์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะเคยเป็นที่รองรับพระเวท การนำมาใส่น้ำมนต์รดให้คู่บ่าวสาว เชื่อกันว่าเป็นสิริมงคล
เมื่อคู่บ่าวสาวสวมแฝดมงคล และนั่งพนมมือคู่กันในที่จัดไว้แล้ว จะมีคนคอยตักน้ำพระพุทธมนต์เติมในสังข์ เพื่อส่งให้ผู้ที่จะรดน้ำอวยพร โดยเริ่มจากพ่อแม่ของคู่บ่าวสาว หรือญาติผู้ใหญ่ ตามลำดับ นิยมรดใส่ในมือให้เจ้าสาวก่อน แล้วจึงรดให้เจ้าบ่าว และกล่าวอวยพรให้คู่บ่าวสาวประสบความสุขความเจริญ อยู่ด้วนกันจนแก่เฒ่าถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ขณะรดน้ำสังข์ พระสงฆ์จะสวดชยันโต เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว แต่ในปัจจุบัน นิยมทำพิธีรดน้ำกันตอนเย็น ก่อนเวลากินเลี้ยงฉลองสมรส ซึ่งมักจะจัดที่โรงแรม หรือหอประชุม หากจะให้มีพระสวดชยันโตในเวลารดน้ำต้องนิมนต์พระมาด้วย
มีเคล็ดลางเกี่ยวกับพิธีรดน้ำสังข์ คือหลังจากพิธีรดน้ำสังข์เสร็จแล้ว หากฝ่ายใดลุกขึ้นยืนก่อน ฝ่ายนั้นจะได้เป็นผู้ที่อยู่เหนือคู่ครองของตน เช่น เจ้าสาวลุกขึ้นก่อน สามีจะกลัว หากถือมากเกินไปคงจะวุ่นวายน่าดูเลย หลังจากเสร็จพิธีรดน้ำต่างตนต่างรีบลุก ควรช่วยกันประคองกันแบบนี้จะดีกว่า แถมดูแล้วน่าประทับใจ
สมัยโบราณ ในพิธีการแต่งงานจะไม่มีการรดน้ำสังข์ แต่จะมีพิธีซัดน้ำ พระสงฆ์จะเป็นผู้ทำพิธี โดยตักน้ำมนต์ในบาตรซัดสาดใส่คู่บ่าวสาว บรรดาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวซึ่งมีอยู่หลายคู่ แกล้งนั่งห้อมล้อมให้คู่บ่าวสาวนั่งเบียดกันชิดกัน การซัดน้ำนี้บางทีซัดจนเปียกปอนต้องเปลี่ยนชุดหลังเสร็จพิธี แบบนี้ก็น่าสนุกไปอีกแบบ
credit: http://th.wikipedia.org/wiki/การแต่งงานแบบไทย