Sunday, December 4, 2011

ขั้นตอนพิธีงานแต่งงานแบบคริสต์ "คาทอลิก" (Catholic Wedding Traditions)

ขั้นตอนพิธีงานแต่งงานแบบคริสต์ (คาทอลิก)

สำหรับคู่บ่าวสาวที่เตรียมการจะจัดงานแต่งงานแบบคริสต์ ขอแนะนำขั้นตอนและพิธีการสำหรับเป็นแนวทางที่จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนงานแต่งงานคุณได้ถูกต้องและง่ายดายยิ่งขึ้นค่ะ


การยื่นเรื่องขอประกอบพิธีการแต่งงาน

พิธีแต่งงานของชาวคาทอลิก จะค่อนข้างตามแบบฉบับประเพณี และไม่ค่อยมีการดัดแปลงมากนัก คู่บ่าวสาวจะเริ่มต้นด้วย การเลือกสถานที่ในการประกอบพีธี ซึ่งส่วนใหญ่คือโบสถ์ และจะไม่นิยมจัดนอกสถานที่ และเมื่อได้สถานที่แล้ว จะต้องทำการยื่นเรื่องขอประกอบพิธีการแต่งงาน โดยคู่บ่าวสาวจำเป็นต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้

1. เอกสารรับรองผ่านการอบรม : คู่บ่าวสาวจะเข้ารับการอบรมเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่ก่อนการแต่งงาน ภายใต้ความเชื่อ และความศรัทธาตามคำสอนที่บัญญัติไว้ในพระคำภีร์จากบาทหลวง หรือศิษยาภิบาล ว่าทั้งคู่ควรจะดำรงชีวิตในวันข้างหน้าอย่างไร ระยะเวลาในการอบรมส่าวใหญ่จะไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง เมื่อผ่านการอบรมแล้วก็จะได้รับเอกสารรับรองผ่านการอบรม

2. เอกสารใบรับศีลล้างบาป : เมื่อผ่านการอบรมในข้อที่ 1 คู่บ่าวสาวจะต้องนำเอกสารรับรองผ่านการอบรมเป็นหลักฐาน เพื่อนำไปยื่นกับโบสถ์ขอประกอบพิธีมิสซาหรือพิธีล้างบาป และเมื่อผ่านพิธีก็จะได้รับใบรับศีลล้างบาป

3. ใบรับรองสถานะภาพว่าเป็นโสด (ใช้สำหรับกรณีที่คู่บ่าวสาวเป็นชาวต่างชาติ)

การยื่นเรื่องเพื่อขอประกอบพิธีการแต่งงาน สามารถยื่นกับบาทหลวงเจ้าอาวาสของวัดที่ประกอบพิธีการแต่งงาน ซึ่งจะนำเรื่องขออนุมัติการประกอบพิธีต่อพระสังฆราชต่อไป ในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

วันประกอบพิธีแต่งงานของชาวคริสต์จะไม่จัดในช่วงอีสเตอร์ เช่น Holy Thursday, Good Friday หรือ Holy Saturday

ขั้นตอนในวันพิธีแต่งงาน

สำหรับผู้นับถือคาทอลิกจะเชิญบาทหลวงเป็นผู้ประกอบพิธี

1. บาทหลวงจะยืนอยู่บริเวณหน้าแท่นพิธี เมื่อแขกเข้ามานั่งพร้อมเพรียงกันแล้ว เจ้าบ่าว หัวหน้าเพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาว ก็จะมายืนรออยู่บริเวณหน้าแท่นพิธี

2. เมื่อถึงเวลา ดนตรีในโบสถ์จะเริ่มบรรเลงเพลงเพื่อเปิดตัวเจ้าสาว จังหวะนี้แขกที่มาร่วมพิธีในงานจะลุกขึ้นยืนเพื่อเป็นการให้เกียรติ กับเจ้าสาว ขบวนนำโดยเด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าบ่าว เด็กถือแหวนที่ใช้ประกอบพิธี ตามด้วยเจ้าสาวเดินคล้องแขนมาพร้อมกับบิดาของตน ซึ่งมีความหมายว่าบิดามีความเต็มใจที่จะยกลูกสาวให้กับเจ้าบ่าว

3. เมื่อถึงหน้าแท่นพิธี พ่อเจ้าสาวก็จะส่งตัวเจ้าสาวให้แก่เจ้าบ่าว ณ จุดนี้เจ้าบ่าวก็จะเข้าไปยื่นอยู่คู่กับเจ้าสาวแทน จึงเป็นที่รู้กันของแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมในพิธี ว่าทางครอบครัวของเจ้าสาวได้ยกเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าวอย่างเต็มใจและถูกต้อง ตามประเพณี

4. จากนั้นบาทหลวงผู้ประกอบพิธีนั้นจะอ่านข้อคัมภีร์เกียวกับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวรับทราบถึงภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกัน

5. หลังจากนั้นคู่บ่าวสาวกล่าวคำมั่นสัญญาต่อกัน ต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้พระองค์ทรงเป็นพยาน ว่าจะทั้งคู่ยอมรับเป็นสามีภรรยาและรักษาสัญญาจนกว่าจะตายจากกัน

6. หลังจากกล่าวคำปฏิญาณ ก็จะเข้าสู่พิธีการสวมแหวน หรือพิธีแลกแหวน โดยเจ้าบ่าวจะรับแหวนจากเด็กถือแหวน แล้วส่งให้กับผู้ประกอบพิธีเป่ามนต์ศักดิ์สิทธิ์ให้กับแหวน และเจ้าบ่าวจะรับแหวนกลับมาเพื่อสวมบนนิ้วนางข้างซ้ายของเจ้าสาว จากนั้นเจ้าสาวก็จะรับแหวนอีกวงมาสวมให้กับเจ้าบ่าวที่นิ้วนางข้างซ้ายเช่นกัน

7. หลังจากพิธีสวมแหวน บาทหลวงจะทำการประกาศให้คู่บ่าวสาวเป็นสามีภรรยาอย่างเป็นทางการ

8. ก่อนจบพิธี บาทหลวงบาทหลวงจะให้คู่บ่าวสาว (สามี-ภรรยา) เซ็นชื่อในใบรับรองเพื่อเป็นหลักฐานว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันที่โบสถ์แห่งนี้ โดยมีพยานเซ็นร่วมด้วย เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งพยานจะเป็นคู่สามีภรรยาที่รักกันและอยู่กันมานาน

9. เมื่อเสร็จพิธีคู่บ่าวสาวเดินออกจากโบสถ์ แขกที่มาร่วมงานจะช่วยกันโปรยกลีบดอกไม้ และเมื่อถึงด้านหน้าโบสถ์ เจ้าสาวจะโยนช่อดอกไม้ให้แก่แขกสาวๆที่ยังไม่ได้แต่งงาน



credit: http://www.siamviva.com/ceremony/wedding_ceremony_catholic_info_01.php