พิธีการแต่งงานแบบคริสต์ ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์และมีความหมายยิ่ง ผู้ที่จะเข้าสู่พิธีนี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อและวางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะการกล่าวคำมั่นสัญญาจะรับเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวเป็นสามีหรือภรรยาไปตลอด ชีวิตนั้น หมายถึงพันธสัญญาที่มีต่อพระเจ้า ต้องกล่าวคำปฏิญาณต่อพระองค์ โดยมีแขกที่มาร่วมในพิธีเป็นพยาน
ทั้งนี้ชาวคริสต์เชื่อว่าคู่ชีวิตที่จะแต่งงานด้วยนั้น เป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกให้ การแต่งงานกับคนต่างศาสนาจึงขัดกับความเชื่อตามพระคำภีร์ และอาจมีปัญหาเรื่องของความเชื่อ แนวทางการตัดสินใจ และอุดมการณ์ที่แตกต่างกันดังนั้น ฝ่ายที่ไม่ใช่คริสต์เตียนต้องทำพีธีเปลี่ยนศาสนา แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ไม่ใช่ข้อบังคับของการแต่งงาน
พิธีแต่งงานแบบคริสต์เริ่มต้นด้วย การเลือกสถานที่ในการประกอบพีธี ชาวคริสต์ส่วนใหญ่จะมีโบสถ์ที่ตัวเองไปเป็นประจำ เวลาแต่งงานก็จะไปติดต่อกับเจ้าอาวาสที่โบสถ์นั้น เพราะสิ่งที่ต้องทำสำหรับชาวคริสต์และคู่สมรส ควรต้องเข้ารับการอบรมเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่ก่อนการแต่งงาน ภายใต้ความเชื่อและความศรัทธาตามคำสอนที่บัญญัติไว้ในพระคำภีร์จากบาทหลวง หรือศิษยาภิบาล ว่าทั้งคู่ควรจะดำรงชีวิตในวันข้างหน้าอย่างไร ระยะเวลาในการอบรมส่วนใหญ่จะไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ระหว่างการอบรมสามารถสอบถามในเรื่องของพิธีการต่างๆ ได้ด้วย
เมื่อผ่านการอบรมแล้วจะได้รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐาน เพื่อขอประกอบพิธีมิสซาหรือพิธีล้างบาป เพราะในการขอประกอบพิธีการแต่งงาน คู่บ่าวสาวต้องยื่นหลักฐานใบสำคัญคือ ศีลล้างบาป ใบรับรองผ่านการอบรม และในกรณีที่คู่บ่าวสาวเป็นชาวต่างชาติ ต้องมีใบรับรองสถานะภาพว่าเป็นโสด
การยื่นเรื่องเพื่อขอประกอบพิธีการแต่งงาน สามารถยื่นกับบาทหลวงเจ้าอาวาสของวัดที่ประกอบพิธีการแต่งงาน ซึ่งจะนำเรื่องขออนุมัติการประกอบพิธีต่อพระสังฆราชต่อไป ในการดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ควรเผื่อเวลาไว้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
สำหรับพิธีการแต่งงานในวันพิธีนั้น ผู้นับถือคาทอลิกจะเชิญบาทหลวงเป็นผู้ประกอบพิธี แต่ถ้านับถือคริสเตียนจะเชิญศิษยาภิบาลเป็นผู้ประกอบพิธี พิธีการเริ่มจากการจุดเทียน ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง แต่นิยมใช้เป็นเด็กชายและเด็กหญิงอย่างละ 1 คน เมื่อเริ่มพิธีคนจุดเทียนจะเริ่มออกมาเป็นคู่แรก ทั้งสองจะเดินนำเทียนเปล่าที่ถืออยู่ไปจุดที่เทียนแท่นที่อยู่ตรงกลางด้าน หน้าของโบสถ์ หลังจากนั้นทั้งสองก็จะนำเทียนในมือไปจุดต่อยังเชิงเทียนด้านซ้ายและขวา
เมื่อจุดเทียนเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองคนก็จะเดินออกมา ดนตรีในโบสถ์จะเริ่มบรรเลงแล้วขบวนเจ้าสาวก็จะเดินเข้าสู่พิธี จังหวะนี้แขกเหรื่อที่มาร่วมพิธีในงานจะลุกขึ้นยืนเพื่อเป็นการให้เกียรติ กับเจ้าสาว ขบวนนำโดยเด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าบ่าว เด็กถือแหวนที่ใช้ประกอบพิธี ตามด้วยเจ้าสาวเดินคล้องแขนมาพร้อมกับบิดาของตน ซึ่งมีความหมายว่าบิดามีความเต็มใจที่จะยกลูกสาวให้กับเจ้าบ่าว
เมื่อมาถึงบริเวณที่ประกอบพิธีด้านหน้าของโบสถ์ บาทหลวงหรือศิษยาภิบาลก็จะถามว่า "ใครเป็นผู้มอบเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าวในวันนี้" บิดาของเจ้าสาวซึ่งเป็นผู้มอบจะตอบว่า "ข้าพเจ้านาย... บิดาของนางสาว... เป็นผู้มอบ" แล้วบิดาก็จะเดินออกมา ณ จุดนี้เจ้าบ่าวก็จะเข้าไปยืนอยู่คู่กับเจ้าสาวแทน จึงเป็นที่รู้กันของแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมในพิธี ว่าทางครอบครัวของเจ้าสาวได้ยกเจ้าสาวให้กับเจ้าบ่าวอย่างเต็มใจและถูกต้อง ตามประเพณี
จากนั้นผู้ประกอบพิธีนั้นจะอ่านข้อคัมภีร์เกียวกับการใช้ชีวิตคู่ เพื่อให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวรับทราบถึงภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกัน ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนสำคัญของการกล่าวคำมั่นสัญญาต่อกันและกันของเจ้าสาวและ เจ้าบ่าว ต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทรงศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ เพื่อให้พระองค์ทรงเป็นพยาน คู่บ่าวสาวจะต้องรำลึกและรักษาสัญญาจนกว่าความตายจะมาพรากทั้งคู่จากกัน
หลังจากกล่าวคำปฏิญาณ ผู้ประกอบพิธีจะถามเจ้าบ่าวว่า "มีสิ่งใดที่ใช้แทนคำสัญญานั้น" ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับแหวนจากเด็กถือแหวน แล้วส่งให้กับผู้ประกอบพิธีเป่ามนต์ศักดิ์สิทธิ์ให้กับแหวน ก่อนที่เจ้าบ่าวจะรับแหวนบรรจงสวมลงนิ้วนางข้างซ้ายของเจ้าสาว พร้อมกล่าวว่า "ขอมอบแหวนวงนี้เป็นเครื่องหมายแสดงความรักและความซื่อสัตย์ตลอดไป" จากนั้นเจ้าสาวก็จะรับแหวนอีกวงมาสวมให้กับเจ้าบ่าวที่นิ้วนางด้านซ้ายเช่นกัน ทั้งนี้ แหวนที่ใช้ในพิธีจะเป็นแหวนที่กลมเกลี้ยงปราศจากรอยต่อ เพื่อสื่อถึงความรักไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ประกอบพิธีจะอธิษฐานขอพรสำหรับครอบครัวใหม่ และประกาศการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะมีการลงนามในหนังสือ โดยที่โบสถ์จะออกให้เพื่อแสดงว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยาอย่างสมบูรณ์ จึงเป็นอันเสร็จพิธี
credit: http://www.readyviva.com/