Monday, February 21, 2011

เคล็ดลับ วิธีการเลือกซื้อ แหวนเพชร สำหรับงานหมั้น หรืองานแต่งงาน

เคล็ดลับ วิธีการเลือกซื้อ แหวนเพชร สำหรับงานหมั้น หรืองานแต่งงาน
(Guide to Selecting and Buying Diamond Engagement Wedding Rings)


1. กำหนดงบประมาณ และรู้ถึงความต้องการ - ตัวอย่างเช่นคุณต้องการใช้สำหรับวันสำคัญเช่น วันหมั้นหรือวันแต่งงาน ขนาดของเพชรไม่ว่าเม็ดเล็กหรือเม็ดใหญ่ ไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาสำคัญของ "ความรัก" แม้แต่น้อย เพราะจุดมุ่งหมายสำคัญของการซื้อแหวนเพชรสำหรับการแต่งงาน นั้นก็เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันสำคัญ ของการใช้ชีวิตคู่กับคนที่เรารัก หรือเป็นข้อเตือนสติเตือนใจทุกครั้งที่มองดูแหวนวงนี้ว่า เราโชคดีที่ได้พบ "คู่ชีวิต" ที่เรารักและเลือกแล้ว ซึ่งจะเป็นคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ห่วงใยเอื้ออาทรต่อกัน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นความรู้สึกที่ดีงาม ต่อจิตใจทั้งสิ้น ฉะนั้นท่านจะซื้อแหวน ที่ประดับเพชรเม็ดเล็กนิดเดียว น้ำหนักแค่ 10 สตางค์ หรือร่ำรวยมีเงินทองมากมายจะซื้อเพชรขนาดใหญ่เม็ดละ 10 กะรัตก็ตาม แต่สำหรับ "ความหมายทางใจ" แล้วย่อมไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย

เคล็ดลับ วิธีการเลือกซื้อ แหวนเพชร สำหรับงานหมั้น หรืองานแต่งงานสมมุติว่าคุณมีเงินหรืองบประมาณในการซื้อแหวนเพชรอยู่จำนวน 30,000 บาท แต่ไม่ทราบว่าจะซื้อแหวนเพชรที่พอจะดูดีหรือไม่ เรื่องนี้ก็เช่นกันว่าจำนวนเงินย่อมไม่เป็นอุปสรรคอันใด เช่นเดียวกับขนาดของเพชร เงินจำนวนนี้ท่านสามารถซื้อเพชรเดี่ยวหนึ่งเม็ด ที่มีน้ำหนักประมาณ 30 สตางค์ และมีคุณภาพดีได้ ในราคาประมาณ 22,000 – 25,000 บาท ส่วนจำนวนเงินที่เหลือจะจ่ายให้เป็นค่าเรือนแหวน หรืออาจจะได้เพชรเม็ดเล็กๆ ขนาด 5 สตางค์ อีก 2 เม็ด เพื่อประดับประดาบนบ่าแหวนได้อีกด้วย

2. ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม - กำหนดคุณสมบัติเพชรที่ต้องการ เนื่องจากเพชรมีราคาสูง จึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 4C's อันได้แก่ น้ำหนักเพชร (Carat) สีของเพชร (Color) ความสะอาดของเพชร (Clarity) การเจียรนัย (Cut) และปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่อความสวยงามของเพชร เมื่อมีความรู้พอสมควร คราวนี้ก็ได้เวลาตัดสินใจแล้วว่า เราจะให้ความสำคัญกับปัจจัยใดมากกว่า เช่น ถ้าเราอยากได้เพชรน้ำสวยๆ สีขาวพิเศษ เราก็อาจกำหนดคุณสมบัติเพชรที่ต้องการเป็น น้ำ 98 (F) ความสะอาด VS1 การเจียรไนเป็น Very good ขึ้นไป [สำหรับเซอร์ HRD แนะนำคุณภาพ 2VG (Very good/Very good) กรณีเป็นเซอร์ GIA/IGI แนะนำคุณภาพ 3VG (Very Good/Very Good/Very Good) ขึ้นไป เซอร์ GIA, IGI จะมีเกรด Excellent ด้วย] หรือในกรณีที่เราต้องการเพชรคุณภาพปานกลาง แต่ขอใหญ่ไว้ก่อน ก็อาจเลือกเป็น H/VVS2 ขนาด 60 ตังค์แทนก็ได้

3. สำรวจตลาดเมื่อเราตั้งงบประมาณ - และมีคุณสมบัติเพชรในใจแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาลองสำรวจตลาดแล้ว ลองเปรียบเทียบราคาเพชรดูสักสอง สามร้าน เราก็จะพอได้ไอเดียคร่าวๆ แล้วว่าราคาเพชรที่เราต้องการประมาณเท่าไหร่ จำไว้ว่าให้เทียบเพชรที่เกรด คุณภาพเดียวกันเสมอ ไม่ใช่ว่าดูร้านนึงเป็น G/VS1 ถูกกว่าอีกร้านที่เป็น E/VS1

สำหรับเพชรที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ (เช่น 30 ตังค์ขึ้นไป) แนะนำให้ซื้อเพชรที่มีเซอร์เท่านั้นนะครับ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นเพชรแท้ (ไม่ใช่ เพชรโมอีส หรือคิวบิก) และคุณภาพตรงกับที่ทางร้านกล่าวอ้าง

4. เลือกร้าน/เลือกเพชร - หลังจากลองสำรวจตลาดดูสักสอง สามร้านแล้ว เราคงจะได้ร้านที่ถูกใจทั้ง ราคา คุณภาพและการบริการ คราวนี้ก้อถึงเวลาเลือกซื้อเพชร นอกจากควรพิจารณาเพชรจากหลัก 4Cs แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควรระวังเวลาเลือกซื้อเพชรอีกหลายประการอย่างเช่น ให้สังเกตใน certificate ว่าเพชรมีฟลูออเรสเซนรึป่าว ถ้าไม่มี หรือถ้ามีเป็น slight, faint (จางๆ) ถือว่าดี แต่ถ้าเป็น medium หรือ strong อันนี้ไม่ดีประกายเพชรจะหมองและเพชรดูฝ้า

จุดสังเกตอีกอันที่ควรระวังคือ เรื่องความลึกของเพชรครับ %(เปอร์เซ็น)ความลึกของเพชร (ความลึกเพชร/เส้นผ่านศูนย์กลางเพชร) ไม่ควรเกิน 63% ไม่งั้นเพชรจะดูหน้าแคบ และเล็กกว่าที่ควรจะเป็น สุดท้ายที่ควรระวัง คือความหนาของขอบเพชร (girdle) ครับ ขอบเพชรที่ดีจะอยู่ระหว่าง Thin-Slightly thick (บางถึงหนาเล็กน้อย) ถ้าเป็น medium ก็ดี แต่ถ้าเป็น Very thin, thick, very thick ไม่ค่อยดี ถึงขั้นตอนนี้เราคงเหลือเพชรให้พิจารณาอีกไม่กี่เม็ดแล้ว

ส่วนการเลือกร้านขายเพชร ควรเลือกร้านที่น่าเชื่อถือ ยิ่งถ้าคุณดูเพชรไม่เป็นเลย คุณควรที่จะซื้อกับผู้ขายที่เชื่อถือได้ หรือมีการแนะนำผ่านกันมาว่า ไว้ใจได้และขายเพชรที่มีคุณภาพดีให้กับลูกค้า

5. ตรวจสอบเพชรอย่างละเอียด - ลองตรวจสอบเพชรแต่ละเม็ดอย่างละเอียดอีกครั้ง ถ้าเพชรมียิงเลเซอร์เบอร์ certificate ที่ขอบ ลองดูว่าหมายเลขตรงกันรึป่าว หรือถ้าเป็นเพชรที่อยู่ในซีลที่ยังไม่แกะก็ดี ลองใช้ loupe ส่องดูเพชรอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่ามีตำหนิที่มีสี ที่เห็นได้ง่ายรึป่าว ถ้าเราสามารถเห็นตำหนิได้ง่ายๆ แสดงว่าเพชรเม็ดนั้นเกรดต่ำกว่า VS2 เป็น SI แล้ว ถ้าเราหาแล้วหาอีกไม่เจออาจเป็น VVS หรือ VS ก็ได้ ถ้าในใบเซอร์มีการพล็อตตำแหน่งตำหนิ ให้เลือกเม็ดที่มีตำหนิอยู่ที่ขอบๆ หรือด้านหลังจะดีกว่าเพชรที่มีตำหนิกลางหน้า

ถ้าคุณอยากจะทราบหรือมั่นใจว่าเงินที่คุณจ่ายให้ผู้ขายนั้น จะได้สินค้าที่มีคุณภาพอย่างไร คุณก็สามารถให้ผู้ขายเขียนใบรับรอง ระบุรายละเอียดของแหวนวงที่คุณซื้อได้ เช่น
เคล็ดลับ วิธีการเลือกซื้อ แหวนเพชร สำหรับงานหมั้น หรืองานแต่งงาน- เบลเยียมคัตขนาด 10 สตางค์ จำนวน 10 เม็ด
- เพชรรัสเชียนคัตขนาด 55 สตางค์ 1 เม็ด
- ตัวเรือนแหวนทำด้วยทองคำ 90 % น้ำหนัก 10 กรัม
ฯลฯ

หรือถ้าคุณซื้อเพชรขนาดใหญ่ น้ำหนัก 50 สตางค์ (ครึ่งกะรัต) ขึ้นไป คุณอาจขอให้ทางร้าน หรือผู้ขายเพชรนำเพชรเม็ดที่ท่านตกลงใจซื้อ ไปให้สถาบัน อัญมณี หรือห้องแล็บต่างๆ ตรวจสอบคุณภาพเพื่อออกใบรับรองก็ได้ แต่ถ้าเป็นเพชรเม็ดเล็ก ให้ผู้ขายเขียนใบรับรองให้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

สำหรับกรณีที่เพชรเม็ดนั้นเป็น Heart&Arrow วิธีตรวจสอบให้สังเกตว่าเห็นลูกศรชัดเจนทั้ง 8 ดอกและมีขนาดเท่ากัน เมื่อมองจากด้านหน้าเพชร และเมื่อมองจากด้านหลังเพชร เป็นรูปหัวใจชัดเจนแปดดวง และมีขนาดเท่ากัน

6. การเลือกตัวเรือน - หลังจากเลือกเพชรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาเลือกตัวเรือนแล้วว่าจะใช้เป็น white gold, pink gold หรือถ้างบประมาณอำนวย ก็อาจเลือกเป็น platinum (ซึ่งราคาจะแพงกว่าทอง 2-3 เท่า แต่สีเงินตามธรรมชาติและไม่ดำ ข้อควรระวังสำหรับ platinum คือไม่สามารถแก้ขนาดขึ้นลงได้มากนักในภายหลัง ถ้าเราเป็นคนที่น้ำหนักเปลี่ยนแปลงขึ้นลงมากๆ ไม่แนะนำ) เมื่อได้แบบที่ถูกใจ ถ้าเป็นไปได้ให้ลองสวมด้วย เพราะบางครั้งแหวนดูสวย แต่พอใส่แล้วไม่เหมาะกับนิ้วเราก็เป็นได้

7. ปัจจัยอื่นๆ - ปัจจัยอื่นๆที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อเลือกซื้อแหวนเพชร เราควรสอบถามเรื่องนโยบายการขายคืน หรือการแลกซื้อวงใหม่ด้วย บางครั้งเราอาจคิดว่าไม่สำคัญ แหวนแต่งงานเรา เราไม่ขายอยู่แล้ว แต่อนาคตไม่แน่นอน เราอาจร้อนเงินภายหลังก็ได้ ถ้าไม่สอบถามหรือตกลงกันให้เรียบร้อย ภายหลังเราต้องการนำมาขายคืนเกิดทางร้านไม่รับซื้อ เสียความรู้สึกแย่เลย ควรตกลงกันให้เรียบร้อย ถ้าจะให้ดีเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรยิ่งดี อีกเรื่องคือการบำรุงรักษาครับ สอบถาม ตกลงกันให้เรียบร้อยว่า ถ้านำมาขัดชุบมีบริการให้ฟรีรึป่าว หรือเสียค่าบริการยังไง เคยเจอบางร้านคิดค่าขัดชุบแหวนตั้ง 1000 บาท แพงมากๆเลย บางคนไม่ทราบคิดว่าราคานี้เป็นราคาปกติ จริงๆแล้วค่าขัดชุบสำหรับเครื่องประดับชิ้นเล็กๆอย่าง แหวน จี้ ไม่น่าเกิน 300-400 บาท แต่ถ้าเป็นเครื่องประดับชิ้นใหญ่อย่าง สร้อยคอ เป็นไปได้ว่าอาจถึงหลักพัน

Diamond Color's Chart
Diamond Color's Chart

Diamond Clarity Chart


ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.geleediamond.com
http://www.jabchai.com
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...