Sunday, October 2, 2011

ครบเครื่องเรื่องขันหมาก ตอนที่ ๑ : พิธียกขันหมาก ขันหมากเอก ขันหมากโท (Thai Wedding Ceremony Eps.1)

ครบเครื่องเรื่องขันหมาก ตอนที่ 1 :
พิธียกขันหมาก ขันหมากเอก ขันหมากโท


(Thai Wedding Ceremony Eps.1)

ก่อนถึงกำหนดวันแต่งงาน พ่อแม่และผู้เป็นเฒ่าแก่ของฝ่ายชาย ต้องจัดเตรียมขันหมาก เอก โท และบริวารขันหมาก ไว้ให้เรียบร้อย นิยมจัดหากัน ตามความสะดวกเหมาะสม เช่น เงินทองสร้อยแหวนกำไล จะต้องจัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าหลาย ๆ วัน ขนมนมเนยผลไม้จัดเตรียมไว้ก่อนวันงานสักวันสองวัน เพราะถ้าเก็บไว้นาน อาจเน่าเสียได้ ส่วนต้นกล้วยต้นอ้อยหมากพลู ที่จะใช้ก็ทำการเสาะหา หรือเจรจาขอ ตามไร่นาตามสวน หรือจากเพื่อนบ้านไว้ เป็นการล่วงหน้า เมื่อใกล้วันงานจึงไปขุดไปตัดมาเตรียมไว้

สำหรับฝ่ายหญิงจะต้องจัดเตรียม ของเลื่อนเตือนขันหมาก ผ้าไหว้ ของสำหรับเลี้ยงแขก และจัดหาผู้ที่ จะทำหน้าที่รับขันหมาก ผู้ดูแลเกี่ยวกับพิธีทางศาสนา ฯลฯ

ขันหมากเอก

ขันหมากเอก มีทั้งที่จัดเป็นขันหมากเดี่ยวและขันหมากคู่แล้วแต่ประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่น พานขันหมาก นิยมใช้เป็นขันเงินหรือขันทองมีพานรองใช้ถุงผ้าที่ทอจากดิ้นเงิน-ดิ้นทองคลุม บนขันหมากบรรจุหมากดิบ 8 ผล ที่จัดติดกันทั้งหมด หรือจัดเป็นคู่ 2 ผลติดกัน 4 คู่ก็ได้ และมีใบพลู 4 เรียง แต่ละเรียงมี 8 ใบ และยังมีถุงเงิน-ถุงทองใส่ถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวเปลือก ส่วนใบเงิน ใบทอง ใบนาก ที่บรรจุมาด้วย มักจะใช้รองกันไว้ด้านล่าง ขันหมากเอก นี้นิยมจัดเป็นคู่ เวลายกขบวนแห่ขันหมาก จะมีคนถือเป็นคู่ ๆ ดูสวยงามและเป็นมงคล โดยถือเคล็ดจากคำว่า คู่ ” นั่นเอง

พานสินสอดในปัจจุบันมีการแยกเป็นหลายพาน อย่างพานเงิน พานทอง พานแหวน ต้นอ้อย หรือมัดอ้อย 2 ต้นหรือ 2 มัด ต้นกล้วย หรือหน่อกล้วย 2 หน่อ

หากเป็นพิธีหมั้นเพียงอย่างเดียวโดยยังไม่มีพิธีแต่งงาน การแห่ขันหมากจะมีพานขันหมาก และพานขันหมั้น ซึ่งคล้ายคลึงกับพานสินสอด แต่สินสอดจะใช้ในพิธีแต่งงานเช่นเดียวกับต้นกล้วยต้นอ้อย สำหรับพานขันหมั้นในพิธีหมั้นนั้น จะใส่พวกของที่จะนำไปหมั้น อย่างหวานหมั้น เงิน ทอง เพชร อัญมณีมีค่า หรือของอื่นตามที่ตกลงกัน ในปัจจุบันมีการจัดของหมั้นแยกเป็นหลายพานเพื่อความสวยงามตามแบบดั้งเดิม ของหมั้นทั้งหมดจะจัดวางมาในพานเดียวและไม่ต้องนับ ซึ่งแตกต่างจากการนับสินสอดแต่งงาน

ขันหมากโท

ขันหมากโท ได้แก่ พวกของที่ใช้เป็นอาหารและขนม รวมทั้งบริวารขันหมากอื่น ๆ เช่น ต้นกล้วย ต้นอ้อย นิยมจัดเป็นคู่ ๆ เช่นกัน มีการนำกระดาษสีแดงประดับตกแต่งให้สวยงาม

อาหารในขบวนขันหมากโท ไม่นิยมอาหารที่ปรุงสุกแล้ว แต่จะเป็นประเภท ไก่ หมู ที่ยังสด ๆ อยู่ อย่างเช่น ไก่ จะจัดใส่ถาดละตัว รวม 2 ถาด ใช้ไก่ที่ลวกน้ำร้อน ถอนขนเรียบร้อยแล้ว หมูใช้เนื้อหมูเป็นชิ้น ๆ เพราะอาหารเหล่านี้ ใช้สำหรับเป็น เครื่องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ตามประเพณีโบราณ หลังจากเซ่นแล้ว จึงนำมาปรุงเลี้ยงดูกัน เมื่อเป็นเช่นนี้สมัยก่อน การยกขันหมาก คงจะใช้ไก่หลายตัว หรือหมูทั้งตัวไม่ใช่แบ่งเป็นชิ้นอย่างในปัจจุบัน เช่นเดียวกับ สุรา ที่คงต้องแบกมาเป็นไห หรือโอ่ง ไม่ใช่แค่ 2 ขวดหรือ 4 ขวด ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสุราอาหารนั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ทางฝ่ายเจ้าสาวจะจัดเตรียมไว้ สำหรับเลี้ยงแขกโดยเฉพาะอยู่แล้ว


ของที่อยู่ในขันหมากโท ซึ่งถือกันว่าเป็น บริวารขันหมาก ได้แก่

ไก่ต้ม 2 ตัวหรือ 1 คู่
หมู 2 ถาด
ต้นอ้อยหรือมัดอ้อย 2 ต้นหรือ 2 มัด
ต้นกล้วยหรือหน่อกล้วย 2 หน่อ
มะพร้าวอ่อนที่ปอกเปลือกแล้ว 2 ผล
กล้วยน้ำว้า 2 หวี
ส้มโอ 2 ผล
เหล้า 2 คู่
ขนมต่าง ๆ จำนวนไม่จำกัด แต่ต้องจัดเป็นคู่ ๆ

เครื่องบริวารขันหมาก นิยมจัดให้ได้อย่างน้อย ๙ อย่าง ซึ่งไม่ได้กำหนดแน่นอนลงไปว่า ต้องใช้อะไรบ้าง สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ต้นกล้วย ต้นอ้อย เพราะต้องให้คู่บ่าวสาวร่วมกับปลูก นอกจากนั้นให้จัดหา ตามแต่จะได้รับ การบอกกล่าวจากผู้ใหญ่หรือท่านผู้รู้แต่ไม่ควรต่ำว่า 9 อย่าง เพราะถือเคล็ดคำว่าก้าวหน้า ในการยกขบวนขันหมาก ในสมัยโบราณ จะมีเตียบร่วมอยู่ในจำพวกขันหมากเอกด้วย เตียบ คือตะลุ่มที่มีปากผายและมีฝาครอบปาก ทำจากไม้ไผ่สาน เป็นภาชนะใส่ของชนิดหนึ่ง หากทำอย่างดีจะลงรักและฝังมุกด้วย ใช้เป็นเครื่องใส่ของกิน อย่างภาชนะสำหรับใส่กับข้าวของผู้ดีสมัยก่อน

ในขบวนขันหมาก ใช้เตียบ 2 คู่ ผู้อุ้มคือหญิงผู้มีตระกูลหรือสุภาพสตรี 4 คน นิยมใช้หญิงที่แต่งงานมีสามี และสามียังมีชีวิตอยู่ ของที่บรรจุในเตียบคือ สุรา ไก่ย่าง ขนมจีนน้ำยาและห่อหมกปลา มะพร้าวอ่อน ส้มและกล้วย ขนมชะมด ขนมกง ฯลฯ ในแต่ละตำรา มีการจัดไม่เหมือนกันแต่ต้องมีผ้า สำหรับเช็ดปาก และผ้าผืนงาม ๆ คลุมเตียบไว้ด้วย

ในปัจจุบันนี้หากเป็นท้องถิ่น ที่ยังรักษาประเพณีแบบโบราณก็จะมีการ ยกเตียบ หรืออุ้มเตียบไปใน ขบวนขันหมาก ด้วย ความเชื่ออีกอย่าง เกี่ยวกับการยกขบวนขันหมาก คือ ไม่นิยมให้หญิงที่เป็นหม้าย และแม่ร้าง หรือสาวแก่ที่ ไม่ได้แต่งงาน มาร่วมยกของในขบวนขันหมาก สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่อุ้มเตียบนั้น เมื่อรับเตียบจาก เฒ่าแก่ หรือผู้มีหน้าที่จัดขันหมากแล้ว ห้ามวางโดยเด็ดขาด จะต้องยกหรืออุ้มเอาไว้ จนกว่าจะไปถึงบ้าน ฝ่ายเจ้าสาว ผู้อุ้มเตียบและขันหมาก รวมทั้งบริวารขันหมากต่าง ๆ จะได้ซองหรือของแถมพก เป็นรางวัล โดยถ้วนหน้ากัน หรือได้เป็นขนม ของใช้ต่าง ๆ แล้วแต่ความนิยมในท้องถิ่น

เมื่อคนของฝ่ายเจ้าบ่าว ยกขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายเจ้าสาวแล้ว จะไม่ยอมมอบต้นกล้วย ต้นอ้อย ให้โดยง่าย อาจถือหรืออุ้มถ่วงเอาไว้ จนกว่าจะได้น้ำมารด เพื่อความเจริญงอกงาม บางทีก็ใช้น้ำมนต์หรือน้ำฝนสะอาด แต่น้ำที่ผู้อุ้มต้องการมากที่สุดคือ สุรา ดังนั้นในวันยกขันหมาก พวกคอสุราจะจับจอง หรือขออาสาเป็นคนอุ้ม ต้นกล้วย ต้นอ้อย เพราะนอกจากจะได้น้ำอมฤตแล้ว ยังได้พูดจาหยอกเย้าต่อรองกับคนของฝ่ายเจ้าสาว เป็นที่สนุกสนาน ครื้นเครง


Credit:
www.thaitopwedding.com : จากหนังสือ : ประเพณี พิธีมงคล วันสำคํญของไทย ของ คุณกิติ ธนิกุล
http://women.kapook.com/wedding00117/

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...