Wednesday, September 28, 2011

การแต่งงานแบบไทยดั้งเดิม ตอนที่ ๑ : ขั้นตอนสู่ขอและพิธีหมั้น (Original Thai Wedding Eps.1)

การแต่งงานแบบไทยดั้งเดิม ตอนที่ 1
ขั้นตอนสู่ขอและพิธีหมั้น


(Original Thai Wedding Eps.1)


เมื่อกล่าวถึงการแต่งงานแบบไทย หลาย ๆ คนก็จะนึกถึงขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งขั้นตอนและรายละเอียดต่าง ๆ ก็ค่อนข้างจะเยอะ ใันปัจจุบัน จึงมีการตัดทอนย่นย่อลงมา เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน แต่ก็ยังรักษาพิธีการตามธรรมเนียมไทยอยู่เช่นเดิม

ลองมาดู ขั้นตอนการแต่งงานแบบไทยดั้งเดิม ตอนที่ 1 กันเลยนะคะ

1. พิธีการสู่ขอ

ผู้ที่ได้มอบหมายที่มาสู่ขอตามธรรมเนียมประเพณีไทยเรียกว่า "เฒ่าแก่" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีฐานะดี มีผู้ให้การเคารพนับถือ และเป็นที่รู้จักพ่อแม่หรือผู้ปกครองของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดี รวมทั้งรู้จักอุปนิสัยใจคอของฝ่ายชายเป็นอย่างดี เพราะตัวเฒ่าแก่จะเป็นผู้รับรองในตัวฝ่ายชาย

เฒ่าแก่จะไปพบพ่อแม่หรือผู้ปกครองของฝ่ายหญิง สมัยโบราณต้องมีการเลียบเคียงด้วยวาจาอันไพเราะ ดังนี้

"ได้ยินมาว่า บ้านนี้มีฟักแฟงแตงเต้าดกงาม ก็ใคร่จะมาขอพันธุ์ไปเพาะปลูกบ้าง"

หลังจากการเจรจาผ่านไปได้ด้วยดี โดยตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้น และการหาฤกษ์ยามสำหรับจัดพิธี สมัยก่อน พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะไม่ยกลูกสาวให้โดยง่ายในการเจรจาสู่ขอครั้งแรก อาจผัดผ่อน เพื่อจะสืบประวัติฝ่ายชาย และถามความสมัครใจจากฝ่ายหญิงก่อน หรือขอวันเดือนปีเกิดของฝ่ายชายไว้เพื่อผูกดวงตรวจดูเสียก่อน หากเป็นในปัจจุบัน การเจราจาสู่อาจตกลงกันได้เลยในครั้งแรก เพราะพ่อแม่ฝ่ายหญิงได้รู้จักฝ่ายชายมาบ้างแล้ว

หากการเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น มีการตกลงกันเรื่องสินสอดทองหมั้นและการหาฤกษ์ยามสำหรับจัดพิธี เฒ่าแก่จะเป็นผู้แจ้งข่าวดีแก่ทางฝ่ายชาย และดำเนินการพูดคุยเพื่อเตรียมการ เช่น การจัดขบวนขันหมาก ซึ่งฝ่ายหญิง ต้องถามจำนวนแขกของฝ่ายชาย เพื่อให้ไม่เกิดความบกพร่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องการเลี้ยงดูปูเสื่อของธรรมเนียมไทย

2. การหมั้น

หลังจากเจรจาสู่ขอเรียบร้อยแล้ว จะ้มีการหมั้นกันสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยจัดงานแต่งภายหลัง ต้องมีการกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น รวมทั้งกำหนดสินสอดทองหมั้น หรือที่เรียกว่า " ขันหมากหมั้น "

เดิมทีการหมั้นมักจะเรียกเป็นทองคำ และการเรียกเป็นน้ำหนัก จนเป็นศัพท์ติดปากมาจนกระทั่งบัดนี้ว่า "ทองหมั้น" ซึ่งประเพณีโบราณถือเป็นของเจ้าสาว ที่จะนำไปเป็นเครื่องแต่งตัว เพื่อเป็นทรัพย์สมบัติติดตัวในเวลาแต่งงาน

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงินสินสอดและผ้าไหว้อีกด้วย เรียกว่า "สินสอด" ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ ถือกันว่า เป็นค่าเลี้ยงดูหรือค่าน้ำนม

การกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น โดยมากนิยมกำหนดตอนเช้า ก่อนเที่ยง หรือไม่ก็ควรเป็นตอนบ่าย นอกจากนั้นต้องมีการหาฤกษ์อีก 3 ฤกษ์ คือ
  • ฤกษ์ขันหมากนิยม
  • ฤกษ์รดน้ำและทิศทางที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะนั่ง
  • ฤกษ์ปูที่นอนและส่งตัว ซึ่งประเพณีโบราณถือว่าสำคัญมาก มักจะให้พระผู้ใหญ่หรือพราหมณ์เป็นผู้หาฤกษ์ โดยถือเกณฑ์ดวงชะตาของฝ่ายหญิงและฝ่ายชายเป็นหลักในการคำนวณ
สิ่งที่เตรียมในขั้นหมากหมั้นในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไป

ซึ่งโดยทั่วไปใช้หมากดิบ ทั้งลูก 4 ผล หรือ 8 ผล แต่ต้องเป็นระแง้หรือตะแง้ (กิ่งที่แยกออก จากทะลายหมาก) เดียวกัน หรือถ้าต่างระแง้ก็ต้องมีระแง้ละ 2 ผล หรือ 4 ผล คือต้องเป็นคู่ เพราะถือเคล็ดการนับเป็นคู่ และการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วใช้ปูนแดงป้ายที่เปลือกหมากเล็กน้อยทุกลูก มีพลูใบ 4 เรียง หรือ 8 เรียงก็ได้ เรียงละ 5 ใบ หรือ 10 ใบ ตัดก้านเสียแล้วใช้ปูนแดงแต้มที่โคนของของใบพลูทุกใบแล้วให้วางเรียงเข้ารอบๆ ภายใน ของขัน ดูให้เสมอกัน และก็เพราะเหตุที่ขันนี้ใส่หมากนั่นเอง จึงเรียกว่า "ขันหมาก"

ขั้นสินสอด ภายในบรรจุเงินทองหรือของหมั้นค่าสินสอดตามที่ตกลงกับทางฝ่ายหญิงไว้แล้ว เช่น สร้อย แหวน กำไล ฯลฯ อาจมีการใส่เศษเงินเพิ่มเข้าไปเป็นการถือเคล็ดว่า เงินสินสอดนี้จะได้งอกเงยได้ดอกออกผล และใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาถ ใบแก้ว ใบรัก และเย็บถุงแพรเล็กๆ ใส่ข้าวเปลือก ถั่วงา แล้วใช้ผ้าแพรคลุมไว้ บางทีแยกขั้นหมากเป็น 2 คู่ คือใส่หมากพลู 1 คู่ และขั้นสินสอด 1 คู่ บางทีไม่แยก แต่เพิ่มขันใส่ใบเงินใบทอง ถุงข้าวเปลือก ถั่วงาอีกขั้นหนึ่ง ไม่จัดปนอยู่ในขันหมากพลูและขันสินสอด

ดอกไม้ธูปเทียน ธูปเที่ยนที่ใช้ในพิธีนี้จะใช้ธูปแพ เทียนแพ ส่วนดอกไม้นั้นจะเป็นดอกอะไรก็ได้ จะใส่ในกระทงมีกรวยปิดตั้งไว้บนธูปแพเทียนแพ

เมื่อได้ฤกษ์งามยามดี เฒ่าแก่จะทำการยกขั้นหมากหมั้นไปยังบ้านฝ่ายหญิง ซึ่งทางฝ่ายหญิงจะจัดเฒ่าแก่ไว้ต้อนรับเช่นกัน เมื่อขั้นหมากหมั้นยกมาถึง จะมีเด็กเล็กๆ หน้าตาหมดจดแต่งตัวน่ารัก โดยมากมักเป็นลูกหลานของฝ่ายหญิง ทำหน้าที่ถือพานหมากออกมารับ ในพานจะมีหมากพลูที่เจียนและจีบเป็นคำๆ ใส่ไว้นับเป็นจำนวนคู่ พอขันหมากหมั้นมาถึง เด็กจะส่งพานหมากพลูให้แก่เฒ่าแก่ฝ่ายชาย เมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชายรับแล้วก็จะให้เงินเป็นของขวัญพร้อมทั้งคืนพานหมากให้ด้วย ซึ่งก่อนคืนจะนำไปเคี้ยวกินพอคำเป็นพิธี

หลังจากนั้น เด็กจะนำไปยังสถานที่ซึ่งทางฝ่ายหญิงจัดไว้เพื่อทำพิธีหมั้น ซึ่งก่อนจะถึงห้องที่เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงคอยต้อนรับอยู่ บางทีจะมีเด็ก (ลูกหลานฝ่ายหญิง) ถือเข็มขัดเงินหรือสายสร้อยเงินมากั้นประตู ซึ่งก็คือ "ประตูเงิน" เฒ่าแก่ฝ่ายชายก็ควักเงินห่อที่เตรียมไว้ ให้เป็นรางวัล อาจกั้นตั้ง 2-3 ประตูก็ได้ ยิ่งประตูเข้ามาใกล้ยิ่งมีค่ามากขึ้น คือใช้ทองหรือเพชรกั้นประตู ซึ่งเฒ่าแก่ฝ่ายชายต้องมีการตกลงกับทางฝ่ายหญิงก่อนว่าจะมีการกั้นประตูหรือไม่ และกี่ประตู จะได้เตรียมเงินไว้เป็นรางวัลถูก เมื่อห้องที่เตรียมไว้แล้ว เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะออกมาต้อนรับเชิญเฒ่าแก่ฝ่ายชายให้นั่งและวางขันหมากและบริวารเป็นที่เรียบร้อย

การนับสินสอดทองหมั้น

ก่อนทำพิธีเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายจะเจรจา เฒ่าแก่ฝ่ายชายจะเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนออกและเป็นผู้เริ่มต้นก่อน โดยพูดถึงฤกษ์ยามอันเป็นมงคลในวันนี้ ตนได้ทำหน้าที่นำ ขันหมากหมั้น ของฝ่ายชายซึ่งเป็นบุตรคนนั้นๆ มาให้ฝ่ายหญิงด้วยเงินสินสอดทองหมั้นเท่านั้นเท่านี้ตามที่ตกลงกันไว้ และขอให้เฒ่าแก่ ฝ่ายหญิงทำการเปิดตรวจนับดูว่า ถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า

เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะแสดงความรับรู้และกล่าวเห็นดีเห็นงามในการหมั้นครั้งนี้ด้วยหลังจากนั้น เฒ่าแก่ฝ่ายชายก็เปิดผ้าที่คลุมออกแล้วส่งให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงเพื่อตรวจนับสินสอดตามธรรมเนียม โดยต้องมีการตรวจนับต่อหน้า เฒ่าแก่และญาติทั้งสองฝ่ายเพื่อเป็นสักขีพยาน เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงก็จะนำแป้งกระแจะซึ่งใส่โถปริกเตรียมพร้อมไว้แล้ว ออกมาเจิมเงินสินสอดเพื่อเป็นสิริมงคล

หากมีแหวน หรือสร้อยกำไล เฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายจะเรียกให้ฝ่ายชายหรือว่าที่เจ้าบ่าวทำการสวมให้ฝ่ายหญิง หรือว่าที่เจ้าสาวของตน ต่อหน้าทุกคนเพื่อให้เป็นสักขีพยาน ซึ่งพิธีการสวมแหวนหมั้นนี้นิยมใช้กันมาก คือตัดขั้นตอนการยกขบวนขันหมากหมั้นออกไป เหลือเพียง แต่นำสินสอด หรือของหมั้นมาหมั้นฝ่ายหญิง และมีการกินเลี้ยงฉลองกันในหมู่ญาติ ทั้งแล้วแต่จะเห็นสมควร ส่วนเงินนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เก็บรักษา อาจนำเงินสินสอดมาในวันทำพิธีแต่งงาน ซึ่งเรื่องนี้แล้วแต่การตกลงของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย

เมื่อฝ่ายหญิงนำสินสอดทองหมั้นหรือของหมั้นไปเก็บรักษาไว้ ก็คืนขันหรือภาชนะมักจะมีของแถมพกให้แก่ผู้ที่ทำการยกขันหมากทุกคน สำหรับเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายจะได้ของสมนาคุณพิเศษ หลังจากนั้นร่วมกันกันเลี้ยงฉลองการหมั้น

เราก็ได้รู้เกี่ยวกับขั้นตอนการสู่ขอ และพิธีการหมั้นกันแล้วนะคะ ตอนต่อไปเราก็จะเข้าสู่พิธีการแต่งงานจนไปถึงส่งตัวเจ้าสาวกันต่อค่ะ


credit: http://animate4you.com/
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...