Monday, September 26, 2011

พิธีการและขนบธรรมเนียมงานแต่งงาน การนับสินสอดของหมั้น รวมถึงพิธีสวมแหวนหมั้น (Thai Engagement & Wedding)

พิธีการและขนบธรรมเนียมงานแต่งงาน การนับสินสอดของหมั้น รวมถึงพิธีสวมแหวนหมั้น

(Thai Engagement & Wedding)

การนับสินสอดของหมั้น พิธีสวมแหวนหมั้น งานแต่งงาน


สินสอดของหมั้น และการสวมแหวนหมั้น

ในการยกขันหมากครั้งนี้ ฝ่ายชายจะให้เฒ่าแก่และพ่อแม่ของตน มาทำหน้าที่หมั้นแทนก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติ ฝ่ายชาย หรือว่าที่เจ้าบ่าวมักจะมากับ ขบวนขันหมากหมั้นด้วย ก่อนทำพิธีเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายจะเจรจากัน เฒ่าแก่ฝ่ายชาย เป็นผู้เริ่มต้นก่อนโดยพูดถึงวัน และฤกษ์ยามอันเป็นมงคลในวันนี้ ตนได้ทำหน้าที่ นำ ขันหมากหมั้น ของฝ่ายชายซึ่งเป็นบุตรคนนั้น ๆ มาหมั้นฝ่ายหญิง ด้วยเงินสินสอดทองหมั้น เท่านั้นเท่านี้ ตามที่ตกลงกันไว้ และขอให้เฒ่าแก่ฝ่ายหญิง ทำการเปิดตรวจนับดู ว่าถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่า

เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะแสดงความรับรู้ และกล่าวเห็นดีเห็นงามไปกับการหมั้นครั้งนี้ด้วย ต่างร่วมพูดคุยกัน เพื่อความสนิทสนมกลมเกลียว ต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ต่อจากนั้นจึงมีการเปิดผ้าคลุมขันหมาก ออก เพื่อตรวจนับสินสอด ตามธรรมเนียม เมื่อเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว จึงสั่งให้นำขันหมากเหล่านั้น ไปเก็บไว้ ในห้อง หรือที่จัดไว้

ในการตรวจนับสินสอดทองหมั้นนี้ จะต้องตรวจนับกันต่อหน้าเฒ่าแก่ และญาติมิตรทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ช่วย เป็นสักขีพยาน เมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชายบอกให้ลองตรวจนับดู ควรเปิดผ้าคลุมขันหมากออก แล้วจึงส่งให้ เฒ่าแก่ฝ่ายหญิง

หากมีแหวนหรือสร้อยกำไล เฒ่าแก่ทั้งสองฝ่าย จะเรียกให้ฝ่ายชาย หรือว่าที่เจ้าบ่าว ทำการสวมให้ฝ่ายหญิง หรือว่าที่เจ้าสาวของตน ต่อหน้าทุกคนเพื่อให้เป็นสักขีพยาน ซึ่งพิธีสวมแหวนหมั้นนี้ในปัจจุบัน ได้นำมาใช้กันมาก คือตัดขั้นตอนการยกขบวนขันหมากหมั้นออกไป เหลือเพียงแต่การนำสินสอด และของหมั้นมาหมั้นฝ่ายหญิง และมีการกินเลี้ยงฉลองกัน ในหมู่ญาติมิตร ทั้งนี้แล้วแต่จะเห็นสมควร ส่วนเงินนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เก็บรักษาไว้ หรือทำแต่พิธีสวมแหวน และทองหมั้นในวันทำพิธีหมั้น สำหรับเงินสินสอดนั้น ค่อยนำมาในวันทำพิธีแต่งงาน เรื่องนี้แล้วแต่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะตกลง

เมื่อฝ่ายหญิงนำสินสอดทองหมั้น หรือของหมั้น ไปเก็บรักษาไว้แล้ว ก็คืนขันหรือภาชนะ แต่จะต้องมีของแถมพก ให้กับผู้ที่ทำการยกขันหมากทุกคน สำหรับเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่ายนั้น จะได้ของสมนาคุณเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ เป็นขนม และเสื้อผ้าหรือสุดแล้วแต่จะเห็นสมควร ต่อจากนั้นจึงร่วมกัน กินเลี้ยงฉลองการหมั้น หรือร่วม รับประทานอาหารด้วยกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ

ธรรมเนียมเกี่ยวกับพิธีการหมั้น และสินสอดทองหมั้น

เกี่ยวกับพิธีการหมั้น และสินสอดทองหมั้นนั้น เมื่อทำพิธีแล้ว หากต่อมาฝ่ายชายผิดสัญญา คือไม่ยกขันหมากมา แต่งงานตามวันเวลาที่ตกลงกันไว้ ทำให้ฝ่ายหญิงเป็นหม้ายขันหมาก ฝ่ายชายจะต้อง ถูกริบสินสอดทองหมั้น ทั้งหมด จะเรียกร้องคืนไม่ได้

และหากฝ่ายหญิงเป็นผู้ผิดสัญญา คือไม่ยอมแต่งงานกับฝ่ายชาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องคืน สินสอดทองหมั้นทั้งหมด แก่ฝ่ายชายจนครบถ้วน ด้วยเหตุนี้บางทีเฒ่าแก่ อาจมีการจดบันทึกรายการ เงินทองของหมั้น เอาไว้ให้เป็นหลักฐานเรียบร้อย แต่มักไม่ค่อยนิยมทำกัน เพราะเหมือนกับว่าไม่ไว้วางใจ หรือเป็นสิ่งไม่ดี ที่อาจจะต้องมีการทวงคืน ซึ่งเกิดจากการผิดสัญญา หรือผิดพ้องหมองใจกัน

หลังจากทำพิธีหมั้นหมาย เป็นที่เรียบร้อยถูกต้องแล้ว ชายและหญิง ที่เป็นคู่หมั้นจะสามารถ ไปไหน มาไหน ด้วยกันได้ อย่างเปิดเผย มากกว่าสมัยที่เพียงแต่ชอบพอกัน แต่ถึงอย่างไรตามประเพณีไทย ก็ไม่ยอมให้ เป็นอิสระ อยู่นอกเหนือสายตา ของผู้ใหญ่เสียทีเดียว จนกว่าจะถึง วันแต่งงาน ซึ่งในวันทำพิธีหมั้น ก็จะกำหนด หรือประกาศอย่าง เป็นทางการอีกครั้ง เกี่ยวกับกำหนดวันทำพิธีมงคลสมรสเพื่อให้แขกเหรื่อทราบ


credit: http://www.thaitopwedding.com/
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...